Paine, Thomas (1737-1809)

นายทอมัสเพน (พ.ศ. ๒๒๘๐-๒๓๕๒)

 ทอมัสเพนหรือทอม เพนเป็นนักคิด นักเขียนและนักต่อสู้ทางการเมืองและสังคมชาวอังกฤษเขาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดสมัยภูมิธรรม (Age of Enlightenment) ที่เน้นความมีเหตุผล สิทธิเสรีภาพความเสมอภาคของมนุษย์ รวมทั้งความเป็นสากลของความคิดและการดำรงชีวิต งานเขียนอันทรงพลังของเขามีอิทธิพลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมในช่วงของการปฏิวัติทั้งในอเมริกาและฝรั่งเศสโดยเฉพาะหนังสือเรื่อง Common Sense (ค.ศ. ๑๗๗๖) และ The Rights of Man (ค.ศ. ๑๗๙๑) เพนได้รับการยกย่องในฐานะเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำขบวนการหัวก้าวหน้าทั้งในยุโรปและอเมริกา แต่หนังสือ The Age of Reason (ค.ศ. ๑๗๙๓) ซึ่งลํ้ายุคเกินกว่าคนจำนวนมากจะรับได้ทำให้ชีวิตในช่วงปลายของเขาต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวเดียวดายและการสูญสิ้นเขาเสียชีวิตในสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. ๑๘๐๙ โดยปราศจากญาติมิตร

 เพนเกิดเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ค.ศ. ๑๗๓๗ ที่เมืองเทตฟอร์ด (Thetford) ชนบทเล็ก ๆ ในมณฑลนอร์ฟอล์ก (Norfolk) ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ โจเซฟ (Joseph) บิดาเป็นเจ้าของร้านตัดเย็บสเตย์รัดรูปสำหรับผู้หญิง ส่วนฟรานเซส(Frances) มารดามาจากครอบครัวทนายความและมีการศึกษาดี เพนจึงได้รับความเอาใจใส่จากมารดาในด้านการศึกษาอบรม แม้เขาจะได้รับการศึกษาในระบบเพียง ๗ ปีจากโรงเรียนมัธยม (Grammar School) ในหมู่บ้านแต่เขาก็อ่านและเขียนได้อย่างแตกฉานเขาเริ่มสกงานเป็นช่างตัดเย็บสเตย์ไนร้านของบิดาตั้งแต่อายุได้ ๑๓ ปี เนื่องจากเขาไม่ชอบงานจำเจในร้านจึงหนี ออกจากบ้านไปท่องโลกกว้างกับเรือสินค้าเมื่ออายุได้ ๑๖ ปี แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ถูกส่งกลับบ้านจึงต้องทนอยู่ฝึกงานที่ร้านต่ออีก ๓ ปี ก่อนที่จะตัดสินใจออกไปใช้ชีวิตอิสระตามลำพัง

 เพนใช้ชีวิตช่วงสั้นๆ อยู่ในกรุงลอนดอนโดยเป็นลูกจ้างตัดเย็บสเตย์ ใน ค.ศ. ๑๗๕๙ เขาตัดสินใจเปิดร้านตัดเย็บสเตย์ของเขาเองที่เมืองแซนด์วิช (Sandwich) มณฑลเคนต์ (Kent) และสมรสกับแมรี แลมเบิร์ต (Mary Lambert) ซึ่งเสียชีวิตในปีต่อมา หลังจากนั้นไม่นานเพนหันไปทดลองอาชีพใหม่ด้วยการเข้ารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่สรรพสามิตมีหน้าที่เก็บภาษียาสูบและเครื่องดื่มจนถึง ค.ศ. ๑๗๖๕ แต่ก็ถูกให้ออกเพราะทำงานผิดพลาด อย่างไรก็ดีหลังจากเข้าออกงานหลายแห่ง และย้ายที่อยู่ไปหลายเมือง ใน ค.ศ. ๑๗๖๘ เพนได้รับการบรรจุเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ สรรพสามิตอีกครั้งหนึ่งที่เมืองลูอิส(Lewes) มณฑลซัสเซกซ์ (Sussex) หลังจากได้ผ่านชีวิตลุ่ม ๆ ดอนๆ จนอายุ ๓๑ ปี โดยมีหน้าที่การงานในราชการที่มั่นคงพอสมควร เพนหันมาให้ความสนใจในเรื่องครอบครัวโดยแต่งงานใหม่กับลูกสาวเจ้าชองร้านขายของชำและยาสูบซึ่งเขาได้รับช่วงกิจการในเวลาต่อมา ขณะเดียวกันเขาก็สนใจเรื่องการเมืองและสังคมมากขึ้นเพนใช้ชีวิตหลังงานเลิกในผับ (pub-public house) และสโมสรไวต์ฮาร์ต (White Hart) สนทนำปัญหาบ้านเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เขาสนุกกับการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมีวิวาทะกับเพื่อนร่วมโต๊ะในที่เหล่านั้นจนลืมครอบครัวและธุรกิจซึ่งทำให้เขามีปัญหากับภรรยาและการดำเนินธุรกิจร้านชำ

 เพนเริ่มชีวิตสาธารณะของเขาที่เมืองสูอิสนั่นเองเพราะเขาได้ค้นพบตัวตนที่แท้จริงที่เขาจะต่อสู้เพื่อการปฏิรูปสังคมบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันบททดสอบแรกของเขาอยู่ที่การต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของข้าราชการสรรพสามิตด้วยการเรียกร้องให้รัฐพิจารณาเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการเหล่านั้นงานเขียนCase of the Officers of Excise (ค.ศ. ๑๗๗๒) ว่าด้วยกรณีของข้าราชการสรรพสามิตได้ปลุกเร้าให้เกิดกระแสความคิดที่รัฐควรยกระดับความเป็นอยู่ของคนระดับล่างเพื่อลดช่องว่างระหว่างชนชั้นและสร้างสังคมที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ เพนยอมหยุดงานเดินทางไปลอนดอนเพื่อแจกจ่ายหนังสือของเขาให้กับสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ โดยใช้เวลาในลอนดอนถึง ๖ เดือนรณรงค์เรื่องดังกล่าวแต่ก็ไร้ผลเพราะข้อเรียกร้องของเขาก้าวหน้าเกินไป ยิ่งกว่านั้นเขายังถูกปลดออกจากราชการใน ค.ศ. ๑๗๗๔ ด้วยข้อหาขาดงานเกินกำหนด ในปีเดียวกันนี้ เขาต้องเลิกกิจการค้าและหย่าขาดกับภรรยาด้วย

 เพนตัดสินใจย้ายจากเมืองลูอิสเข้าไปอยู่ในลอนดอนเพื่อรอโอกาสทำในสิ่งที่เขาอยากทำให้กับสังคม โชคชะตาช่วยให้เขาได้รู้จักและทำความคุ้นเคยกับเบนจามินแฟรงกลิน(Benjamin Franklin) ตัวแทนการค้าและการต่างประเทศ ของรัฐเพนซิลเวเนียในกรุงลอนดอนเมื่อเพนแสดงความสนใจ อยากไปใช้ชีวิตในโลกใหม่ แฟรงกลินจึงช่วยเขาให้เดินทางไปอเมริกาพร้อมหนังสือแนะนำตัวอย่างดีให้เขานำไปให้บุตรเขยซึ่งเป็นพ่อค้าในเมืองฟิลาเดลเฟีย อาณานิคมเพนซิลเวเนีย

 เพนใช้ชีวิตช่วงแรกในฟิลาเดลเฟียสอนหนังสือ แต่ไม่นานนักเขาได้รับการแนะนำให้เข้าทำงานกับนิตยสาร ชื่อ Pennsylvania Magazine ใน ค.ศ. ๑๗๗๕ ซึ่งทำให้เขามีโอกาสเขียนข่าวและบทความที่ครอบคลุมเรื่องราวหลายด้านทั้งการเมือง สังคม จริยธรรม และวิทยาศาสตร์ซึ่งล้วนแสดงความก้าวหน้าทางความคิดแบบภูมิธรรมความสามารถสื่อความคิดสู่สาธารณชนผ่านงานเขียนของเขาทำให้เพนกลายเป็นนักเขียนที่มีคนติดตามอ่านเป็นจำนวนมาก หนังสือพิมพ์และนิตยสารในเมืองฟิลาเดลเฟียมักแย่งชิงโอกาสที่จะได้ตีพิมพ์งานเขียนของเขา งานที่โดดเด่นของเพนใน ค.ศ. ๑๗๗๕ เป็นการโจมตีการมีทาสในอเมริกาและการเรียกร้องสิทธิให้กับสตรี เพราะเขาเชื่อในศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ อย่างไรก็ดี หนังสือ Common Sense ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ค.ศ. ๑๗๗๖ ได้กลายเป็นหนังสือยอดนิยมและขายดีที่สุดแห่งศตวรรษ เพราะภายในเวลาเพียง ๓ เดือนก็มียอดจำหน่ายในอเมริกาถึง ๑๒๐,๐๐๐ เล่ม และเมื่อรวมยอดจำหน่ายในยุโรปด้วยก็จะสูง ถึง ๕๐๐,๐๐๐ เล่ม คาดกันว่าไม่มีปัญญาชนและนักปฏิวัติคนใดทั้งในยุโรปและอเมริกาที่ไม่ได้อ่านหนังสือ Common Sense ของเพน

 ความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่ที่ลีลาการเขียนที่น่าอ่านและเร้าใจเท่านั้นหากอยู่ที่เนื้อหาสาระที่เข้าถึงอารมณ์ความรู้สืกและจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ด้วย เพนเห็นว่า มนุษย์มีสามัญสำนึกเหมือนกันที่ชอบความเป็นอิสระและการดำรงชีวิตอยู่อย่างสุขสงบปราศจากอำนาจและกฎกติกาที่มากเกินไป รัฐบาลที่ดีที่สุดคือรัฐบาลที่ปกครองน้อยที่สุด โดยปล่อยให้สังคมทำหน้าที่ตามธรรมชาติที่จะนำความสุขสบาย ความมั่นคง และความก้าวหนำมาให้กับสมาชิกในสังคมโดยเสมอหน้ากันเพนคัดค้านการปกครองในระบอบกษัตริย์ที่มีการสืบทอดอำนาจแบบเดิม เขาเห็นว่าประชาชนควรเป็นผู้มีอำนาจและใช้อำนาจนั้นโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง เขาจึงปกป้องระบอบสาธารณรัฐและต้องการเห็นระบอบดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในโลกเก่าและโลกใหม่

 หนังสือ Common Sense พิมพ์เผยแพร่ในช่วงจังหวะที่ชาวอาณานิคมในอเมริกากำลังต่อสู้กับอำนาจการปกครองของอังกฤษ หนังสือได้ปลุกเร้าความรู้สึกร่วมของชาวอาณานิคมในการต่อสู้เพื่อขจัดความชั่วร้ายและความไม่เป็นธรรมของระบบอังกฤษ เพนชี้ให้ชาวอาณานิคมเห็นความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้เพื่ออิสรภาพ และสร้างรัฐอเมริกาที่เป็นหนึ่งเดียวเขาเป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “สหรัฐอเมริกา” (United States of America) แนวคิดและอุดมการณ์ในการจัดตั้งรัฐใหม่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดใน“คำประกาศอิสรภาพ” (Declaration of Independence ค.ศ. ๑๗๗๖) และในการร่างรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา เพนจึงมีบทบาทและอิทธิพลในกลุ่มผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกาด้วย

 นอกจากนั้นระหว่างสงครามประกาศอิสรภาพเพนยังได้เช้าร่วมรบกับนายพลจอร์จ วอชิงตัน(George Washington) ด้วย เขาสนับสนุนสงครามและการปฏิวัติอย่างเต็มที่ และในฐานะนักเขียนเขาได้ผลิตงานเขียนตอนสั้นๆ ออกมาเป็นระยะระหว่างอยูในสมรภูมิ เมื่อรวมเป็นหนังสือมีชื่อว่า Crisis (วิกฤตการณ์) ตอนแรกได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๗๖ ปรากฏว่าเป็นที่จับใจคนอ่านเพราะได้ปลุกเร้าความรู้สึกของทหารให้เกิดกำลังใจในการสู้รบเพื่ออุดมการณ์ในการสร้างชาติ นายพลวอชิงตันถึงกับขอให้เพนอ่านบางช่วงบางตอนของงานเขียนชิ้นนี่ของเขาดัง ๆ ให้ทหารได้รับฟัง Crisis จึงเป็นงานเขียนประเภทปลุกจิตสำนึก ให้กับนักปฏิวัติอย่างกว้างขวางทั้งในอเมริกาและยุโรป

 ในฐานะนักเขียนที่มีชื่อเสียง เพนได้รับเลือกตั้งให้เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการต่างประเทศของรัฐสภาในเดือนเมษายนค.ศ. ๑๗๗๗ อย่างไรก็ดี สองปีต่อมาเขาถูกบีบให้ลาออก เนื่องจากในบทความที่เขาเขียนให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งมีข้อมูลลับเกี่ยวกับการเจรจาทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสหลังจากนั้นเพนจึงหันมาอุทิศตนให้กับการประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์ที่เขาเคยสนใจมาแต่เด็ก เขาเป็นคนใฝ่รู้และมีความคิดริเริ่มในงานด้านวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกับนักปราชญ์อีกหลายคนในศตวรรษนั้นงานประดิษฐ์สำคัญของเขาคือ สะพานเหล็กช่วงยาวซึ่งต่อมาได้รับการจดสิทธิบัตรในทวีปยุโรป แต่แบบจำลองของสะพานดังกล่าวถูกทิ้งค้างไว้ในสนามแพดดิงตันในกรุงลอนดอนเพราะไม่มีเงินทุนอุดหนุนการสร้างในสถานที่จริง นอกจากนั้นเพนยังร่วมกับจอห์นฟิตช์ (John Fitch) ในการพัฒนาเครื่องจักรไอนํ้าและได้แสดงอัจฉริยภาพในการประดิษฐ์ “เทียนไขไร้ควัน” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของหลอดไฟฟ้าที่ทอมัสเอดิสัน(Thomas Edison) ประดิษฐ์ขึ้นและยอมรับว่าได้ความคิดเบื้องต้นจากการประดิษฐ์ของเพน

 ระหว่างทศวรรษ ๑๗๘๐ เพนเดินทางจากสหรัฐอเมริกาไปอังกฤษและฝรั่งเศสหลายครั้งเพื่อเผยแพร่และหาทุนสำหรับงานประดิษฐ์คิดค้นของเขา แม้จะไม่บรรลุผลแต่เขาก็มีโอกาสได้ประสบการณ์ตรงกับสถานการณ์ในโลกเก่า ทำให้เขาได้สัมผัสกับกระแสการปฏิวัติที่กำลังก่อตัวขึ้นในฝรั่งเศสและได้เห็นกระแสต่อต้านการปฏิวัติในอังกฤษและในส่วนอื่นๆ ของยุโรป ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา แม้เพนจะไม่ได้เข้าไปมีบทบาททางการเมืองอีกต่อไป แต่ผลงานที่เขาสร้างไว้เป็นเกียรติประวัติที่ผ่านมา ทำให้รัฐสภาสหรัฐอเมริกา และรัฐเพนซิลเวเนียให้รางวัลตอบแทนเขาเป็นเงินก้อนใหญ่ รวมทั้งรัฐนิวยอร์กก็ได้มอบที่ดินผืนใหญ่ในเมืองนิวโรเชลล์ (New Rochelle) ให้กับเขาด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๗๘๗ เพนตัดสินใจเดินทางกลับอังกฤษและใช้เวลาช่วงนี้พบปะพูดคุยกับปัญญาชนหัวก้าวหน้าในอังกฤษ รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำทางความคิดและการเคลื่อนไหวในฝรั่งเศสเขาร่วมอยู่ในเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution, 1789)* ต่อมาเขายังเขียนหนังสือสนับสนุนการปฏิวัติฝรั่งเศสเรื่อง The Rights of Man ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกที่อังกฤษในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๗๙๑ และครั้งที่ ๒ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๙๒ หนังสือเล่มนี้เป็นการตอบโต้หนังสือ <>iReflections on the Revolution in France (ค.ศ. ๑๗๙๐) ของ เอดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke)* นักคิดแนวอนุรักษนิยมชาวอังกฤษที่เห็นว่า การปฏิวัติในฝรั่งเศสเป็นการทำลายล้างสถาบันและทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมอย่างที่ไม่ควรได้รับการให้อภัย เบิร์กเห็นว่าสังคมและสถาบันต่าง ๆ เป็นผลผลิตของการสั่งสมทางอารยธรรมของคนหลายรุ่นหลายยุคสมัยที่ควรมีการสืบทอดอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงหากจะมีชิ้นควรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและอยู่บนพื้นฐานของอดีต แต่สำหรับเพนแล้วการเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องมีการต่อเนื่องเสมอไป หากชอบด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงคนทุกยุคทุกสมัยรวมทั้งยุคปัจจุบันก็มีสิทธิและเสรีภาพในอันที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมสอดคล้องกับยุคสมัยได้ The Rights of Man จึงเป็นกระบอกเสียงของการปฏิวัติเพื่อล้มล้างระบอบกษัตริย์ที่ล้าสมัยและขาดความชอบธรรม เพนวิพากษ์วิจารณ์ไม่เฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสหากเขายังปลุกจิตสำนึกของชาวอังกฤษรุ่นใหม่ให้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมด้วยการเรียกร้องให้ชาวอังกฤษล้มล้างสถาบันขุนนางที่มีอภิสิทธิ์และสืบทอดอำนาจ โดยทดแทนสถาบันดังกล่าวด้วยสถาบันใหม่ที่เน้นสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมกันของมนุษย์โดยเฉพาะความเท่าเทียมในโอกาสที่จะก้าวหน้าด้วยความสามารถของปัจเจกบุคคล นอกจากนั้นเพนยังวิพากษ์ระบอบกษัตริย์ของอังกฤษอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้รัฐบาลอังกฤษใน ค.ศ. ๑๗๙๒ แจ้งข้อกล่าวหาเพนว่าบ่อนทำลายและเขียนหนังสือไปในทางประทุษร้ายผู้อื่นการพิจารณาคดีของเพนดำเนินไปขณะเขาพำนักอยู่ในฝรั่งเศสเขาจึงตอบโต้ข้อกล่าวหาด้วยข้อเขียนที่สร้างความมีชื่อเสียงให้กับเขามากยิ่งขึ้นในที่สุด เพนก็ถูกตัดสินให้ขับออกนอกประเทศในฐานะเป็นบุคคลที่ทรยศต่อประเทศบ้านเกิด

 ในปีเดียวกันนั้นเพนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติฝรั่งเศสโดยเป็นผู้แทนของเขตปา-เดอ-กาเล (Pas-de-Calais) พร้อมกันนี่สภาแห่งชาติยังได้เห็นชอบให้เขาเป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของฝรั่งเศสเช่นเดียวกับ อะเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน(Alexander Hamilton) จอร์จ วอชิงตันและเบนจามินแฟรงกลินผู้ร่วมก่อตั้งสหรัฐอเมริกา ในฐานะสมาชิกสภาแห่งชาติเพนออกเสียงสนับสนุนการจัดตั้งสาธารณรัฐ แต่เขาคัดค้านการลงโทษประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (Louis XVI)* ด้วยหลักการทำงศีลธรรม เพราะไม่เห็นด้วยกับบทลงโทษด้วยการเอาชีวิตคนเนื่องจากมนุษย์มีสิทธิตามธรรมชาติที่สำคัญประการหนึ่งคือสิทธิในชีวิต จึงไม่สมควรที่จะคร่าชีวิตคนโดยง่าย เพนเห็นควรให้เนรเทศพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ไปอยู่สหรัฐอเมริกาแทนการถูกประหาร การคัดค้านของเพนทำให้พวกมงตาญญาร์ (Montagnards) ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงไม่พอใจอย่างยิ่งคนเหล่านั้นจึงคิดหาวิธีกำจัดเพนจนประสบความสำเร็จเมื่อสภาแห่งชาติผ่านกฤษฎีกากีดกันชาวต่างชาติจากการเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติในปลาย ค.ศ. ๑๗๙๓ และในเดือนธันวาคมปีเดียวกันเพนก็ถูกจับและถูกคุมขังโดยไม่มีข้อกล่าวหา ที่แน่ชัด

 ก่อนถูกจับเพนเริ่มเขียนหนังสือเล่มใหม่ชื่อ The Age of Reason และใช้เวลาในช่วงถูกคุมขังระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๙๓ ถึงเดือนพฤศจิกายนค.ศ. ๑๗๙๔ เขียนจนเสร็จ ระหว่างนั้นเขาเกือบถูกประหารชีวิต แต่เคราะห์ดีที่เกิดมีข้อผิดพลาดในการส่งตัวเชาไปประหารทำให้เขารอดชีวิตมาจนสิ้นสุดยุคของมักซีมีเลียง เดอ โรแบสปีแยร์ (Maximilien de Robespierre)* ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๔ จึงมีความพยายามจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยเจมส์ มอนโร (James Monroe) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำฝรั่งเศสช่วยเจรจาให้ทางการฝรั่งเศสยอมให้เพนเป็นอิสระได้ในที่สุด เพนยังคงพำนักอยู่ในฝรั่งเศสต่อไปเขาใช้เวลาหลังจากถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระเขียนหนังสือโดยแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือ The Age of Reason ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในทันทีที่หนังสือเล่มนี้พิมพ์เผยแพร่ออกไปเพนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นคนนอกศาสนาเพราะเขาโจมตีลัทธิเทวนิยมในคริสต์ศาสนาว่าไม่มีความเป็น“เทวะ” ที่แท้จริง เขาชำแหละคัมภีร์ไบเบิลว่ามีความขัดแย้งในตัวเองหลายตอนและในอีกหลาย ๆ ตอนก็ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง มีอิทธิปาฏิหาริย์เกินไปจนทำให้ขาดความเป็นมนุษย์ สำหรับเพนเห็นว่า พระเป็นเจ้าซึ่งเป็นประธานของจักรวาลที่มีความเป็นธรรมชาติ จักต้องไม่ใช่พระเป็นเจ้าที่มีความลึกลับโหดร้ายและมีฤทธิ์เหนือธรรมชาติ ในยุคของเหตุผลมนุษย์จะต้องนำเอาวิทยาศาสตร์และธรรมชาติมาแทนที่สิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ และมองพระเป็นเจ้าในมิติใหม่ นั่นคือพระองค์ทรงเป็นใหญ่เหนือสรรพสิ่ง (Supreme Being) และเป็นปฐมเหตุ (First Cause) หรือเป็นที่มาของทุกสิ่ง การดำรงอยู่ของพระองค์เป็นไปตามกฎธรรมชาติซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยหลักของวิทยาศาสตร์และความมีเหตุมีผลไม่ใช่ด้วยศรัทธาเพียงอย่างเดียวการมองศาสนาและพระเป็นเจ้าในลักษณะดังกล่าวของเพนทำให้คนจำนวนมากรับไม่ได้ หลายคนที่เคยชื่นชมเขากลับรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อเขาอย่างรุนแรง

 อย่างไรก็ดี ระหว่างอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเพนก็ยังคงเป็นที่ยอมรับในสังคมปัญญาชนว่าเป็นนักคิด นักเขียนและนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมในระดับแนวหน้าใน ค.ศ. ๑๘๙๕ เขาพิมพ์งานเขียนทางการเมืองขนาดยาวเรื่อง Dissertations on the First Principles of Government และใน ค.ศ. ๑๗๙๗ งานวิพากษ์ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง Agrarian Justice ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานชิ้นเอกที่มีอิทธิพลต่อการปฏิรูปในยุคนั้นใน ค.ศ. ๑๘๐๐ เพนมีโอกาสพบกับนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* วีรบุรุษสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars)* ที่เขาชื่นชอบ นโปเลียนชื่นชมเพนและหนังสือ The Rights of Man ของเขาเป็นอย่างมากเมื่อได้พบกันนโปเลียนถึงกับกล่าวกับเพนว่า “น่าจะมีการสร้างอนุสาวรีย์ทองคำให้เพนในทุก ๆ เมืองในจักรวาลนี่” ซึ่งทำให้เพนตื้นตันและยิ่งชื่นชมนโปเลียนมากชิ้นอีก แต่ในเวลาต่อมาความชื่นชมของเพนที่มีต่อนโปเลียนก็เปลี่ยนเป็นการประณามหยามเหยียด เพราะหลังจากนั้นไม่นานนโปเลียนได้เปลี่ยนท่าทีจากผู้นำขบวนการหัวก้าวหนำมาเป็นเผด็จการ เพนรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงกับสถานการณ์ที่พลิกผันอย่างรวดเร็วในฝรั่งเศสเขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. ๑๘๐๒ ตามคำเชิญของประธานาธิบดี ทอมัสเจฟเฟอร์สัน(Thomas Jefferson) ของสหรัฐอเมริกา

 สหรัฐอเมริกาที่เพนได้สัมผัสครั้งใหม่นี่แตกต่างจากครั้งก่อนๆ มาก เมื่อการต่อสู้สิ้นสุดลงและประเทศใหม่ได้ก่อตั้งชิ้นเป็นรูปร่างชัดเจนประชาชนส่วนใหญ่จึงขาดความกระตือรือร้นในปัญหาบ้านเมือง และปล่อยให้ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการบ้านเมืองอยู่ในมือของคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีความขัดแย้งและแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย ไม่มีใครสนใจทอม เพนนักคิด นักเขียนและนักต่อสู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ชื้นชอบของชาวอาณานิคมและคนอเมริกันในยุคสร้างชาติไม่มีใครอยากพูดถึงหนังสือ Common Sense หรือ Crisis แต่สิ่งที่พวกเขาพูดถึงคือ The Age of Reason ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นหนังสือที่บ่อนทำลายคริสต์ศาสนา รวมทั้งศาสนาอื่นๆ ที่นับถือพระเป็นเจ้าสถานภาพของเพนจึงเปลี่ยนจากการเป็นวีรบุรุษเป็นผู้บ่อนทำลายที่สร้างความเสียหายให้แก่สังคม เขาจึงใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกาเหมือนคนไร้ญาติขาดมิตร มีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวดื่มจัด แต่ก็ยังคงรักการอ่านและเขียนหนังสืออยู่โดยไม่ยอมหยุด

 ทอมัสเพนเสียชีวิตในเช้าวันที่ ๘ มิถุนายนค.ศ. ๑๘๐๙ ณ บ้านเลขที่ ๕๙ ถนนโกรฟ ในย่านกรีนิชวิลเลจ (Greenwich Village) บนเกาะแมนฮัตตันขณะอายุ ๗๒ ปี ศพของเขาถูกเคลื่อนย้ายไปทำพิธีฝังที่ฟาร์มในเมืองนิวโรเชลล์รัฐนิวยอร์ก โดยมีผู้เข้าร่วมพิธีเป็นคนใกล้ชิดและเพื่อนบ้านเพียง ๖ คนหนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาลงข่าวการเสียชีวิตของเขาพร้อมกับคัดลอกคำไว้อาลัยสั้นๆ จากหนังสือ New York Citizen ว่า “ทอม เพนมีชีวิตยืนยาวทำสิ่งดี ๆ บ้างแต่ก็ทำสิ่งร้าย ๆ มาก” ชีวิตของเพนได้ผ่านการพลิกผันจากการเป็นช่างตัดเย็บสเตย์ในเมืองชนบทเล็ก ๆ ในอังกฤษมาเป็นผู้มีบทบาทในการสร้างสังคมยุคใหม่เป็นที่รู้จักของบุคคลสำคัญ ๆ ในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศสและอังกฤษ และจบชีวิตลงอย่างเดียวดาย ขาดคนเห็นคุณค่าและความสำคัญ

 ต่อมาอีก ๓ ปี วิลเลียม ค็อบเบตด์ (William Cobbett)* นักต่อสู้เพื่อชาวนาชาวอังกฤษได้นำกระดูกของทอม เพนกลับอังกฤษ โดยตั้งใจว่าจะนำไปฝังไว้ที่บ้านเกิดของเขา แต่ไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะไม่มีใครได้พบเห็นกระดูกของเพนอีกเลย อย่างไรก็ดี ทางการรัฐนิวยอร์กได้ปรับปรุงบ้านของเพนที่นิวโรเชลล์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์และเป็นที่ตั้งสมาคมประวัติศาสตร์ทอมัสเพนพร้อมกับมีรูปหล่อโลหะของเขาอยู่หน้าบ้านในภายหลังมหาวิทยาลัยนิวยอร์กได้บรรจุรูปโลหะครึ่งตัวของเพนไว้ในวิหารวีรบุรุษ (Pantheon of Heroes) และยังมีอีกหลายเมืองในสหรัฐอเมริกาที่มีอนุสาวรีย์ของทอม เพนเพื่อระลึกถึงสิ่งที่เขาได้ทำให้แก่สหรัฐอเมริกา

 ที่กรุงปารีสทางการฝรั่งเศสได้ติดป้ายที่ถนนที่เพนอาศัยอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๗-๑๘๐๒ พร้อมกับจารึกข้อความว่า “ทอม เพนชาวอังกฤษโดยกำเนิด ชาวอเมริกันโดยการเลือก ชาวฝรั่งเศสโดยกฤษฎีกา และพลเมืองของโลก” ส่วนอังกฤษซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดที่ขับไล่เขาออกนอกประเทศ นอกจากความพยายามของค็อบเบตด์แล้วไม่ปรากฏมีความสนใจจากภาครัฐ มีแต่เมืองเทตฟอร์ดที่สร้างอนุสาวรีย์ ไว้ที่ถนนคิงที่เกิดของเขาโดยทำเป็นรูปหล่อยืนของเพนมือข้างหนึ่งถือวัตถุทรงกระบอกสัญลักษณ์ของหลอดด้ายและอีกข้างหนึ่ง เป็นหนังสือชื่อ The Rights of Man แต่ถือกลับหัวลง ที่โรงเรียนเก่าของเขาในหมู่บ้านเกิด ได้ตั้งชื่อห้องเรียนเกรด ๖ ว่า ห้อง “ทอมัสเพน” และที่เมืองลูอิสที่เพนเคยใช้ชีวิตอยู่ เทศบาลเมืองได้จัดให้มีเทศกาลเพื่อเฉลิมฉลองด้วยการแสดงชีวประวิติและผลงานของทอมัสเพนขึ้นเป็นประจำทุกปีระหว่างวันที่ ๔-๑๔ กรกฎาคม.



คำตั้ง
Paine, Thomas
คำเทียบ
นายทอมัสเพน
คำสำคัญ
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- ค็อบเบตด์, วิลเลียม
- เบิร์ก, เอดมันด์
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- พวกมงตาญญาร์
- โรแบสปีแยร์, มักซีมีเลียง เดอ
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- สมัยภูมิธรรม
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1737-1809
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๒๘๐-๒๓๕๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-